
ใครที่ต้องเดินทางผ่านภูเขาทอง ซึ่งตั้งอยู่ในวัดสะเกศเป็นประจำ หากมองไปที่ภูเขาทองตอนนี้จะเห็นว่า ภูเขาทองไม่ได้เป็นสีทองเหมือนเคย หากแต่มีผ้าสีแดงพันรอบองค์เจดีย์ไว้ นั่นเป็นสัญลักษณ์บอกให้รู้ว่า งานภูเขาทองประจำปี กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว โดยในปีนี้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 12-18 พ.ย.
ภูเขาทองยามเย็นและยามพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไป
ภูเขาทอง หรือ บรมบรรพตนี้ได้เริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้พระยาพิพัฒน์รัตนราชโกษาเป็นแม่กองสร้าง ทรงพระราชทานนามว่า พระเจดีย์ภูเขาทอง แต่เนื่องจากพื้นดินตอนนั้นลุ่ม ดินจึงอ่อน รับน้ำหนักพระเจดีย์ไม่ไหว จึงทรุดทุกครั้งจึงต้องหยุดสร้าง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างต่อและได้เสด็จวางศิลาฤกษ์ในเดือน 6 ปีฉลู พ.ศ. 2408 แล้วเปลี่ยนนามพระเจดีย์ว่า "บรมบรรพต" การซ่อมตลอดรัชกาลมาเสร็จลงในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเวลาการสร้างถึง 3 รัชกาล
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับพระบรมสารีกริกธาตุหลายครั้ง และส่วนมากได้พระราชทานอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระบรมบรรพต ที่จัดกระบวนแห่อย่างใหญ่โต ก็คือการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2420 พระเขี้ยวแก้วจำลองพระองค์นี้พระเจ้ากรุงสิงหลในเกาะลังกา ถวายเป็นราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และใน พ.ศ. 2442 มาร์ควิสเคอร์สัน อุปราชอินเดียได้ให้อัญเชิญพระบรมสารีสิกธาตุที่ขุดได้จากเนินพระเจดีย์ที่เมืองกบิลพัสดุ์มาถวาย ก็โปรดให้แห่มาประดิษฐานไว้ที่ซุ้มเจดีย์
ก่อนจะขึ้นไปบนภูเขาทอง บริเวณเชิงภูเขาทองมีวิหารหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สร้างมาพร้อมๆ กับภูเขาทอง หลังจากที่สร้างเสร็จลงรัก แต่ไม่ได้ปิดทอง แต่ปัจจุบันปิดทองแล้ว
พระพุทธรูปหลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ พระพักตร์กลมแบนแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระกรรณกาง พระวรกายไม่ได้สัดส่วน เพราะตั้งแต่พระนาภีถึงพระอุระมีช่วงยาวผิดปกติ เส้นความอ่อนไหวที่ใช้ในการปั้นมีน้อยกว่าพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยเดียวกัน พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดที่ประชาชนให้ความเคารพบูชากันมาก
ชาวบ้านกำลังสักการะหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สร้างมาพร้อมๆ กับภูเขาทอง
หลังจากที่ไหว้พระขอพรกันแล้ว ก็เริ่มเดินขึ้นสู่ภูเขาทอง บันไดนั้นไม่ชันนัก แต่ขอบอกว่าขึ้นไปถึงยอดแล้วก็เหนื่อยไม่ใช่เล่น สิ่งที่ไม่ควรพลาดคือการไหว้พระบรมสารีริกธาตุ โดยมีดอกไม้ ธูปเทียนของวัดจัดจำหน่ายชุดละ 20 บาท เสร็จแล้วก็ขึ้นไปชมความงามของภูเขาทอง และทิวทัศน์ยามค่ำคืนของกรุงเทพฯ ประกอบกับลมหนาวที่เย็นสบาย
ทางขึ้นภูเขาทอง และภูเขาทองระยะประชิด
ทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ เมื่อมองจากภูเขาทอง เห็นสะพานพระราม 8 ด้วยนะ
ที่รอบๆ บริเวณวัดสะเกศ มีการจัดงานออกร้านขายของ ซึ่งงานวัดภูเขาทองจัดว่าเป็นงานวัดที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ เพราะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นงานวัดที่พยายามรักษารูปแบบการจัดงานให้คล้ายคลึงกับของเดิมมากที่สุด
มาเที่ยวงานวัดที่นี่ คุณจะได้ชมการแสดงที่หาชมไม่ได้จากที่อื่น เช่น สาวน้อยตกน้ำ ละครลิง มนุษย์เงือก มนุษย์สองหัว เป็นต้น และยังมีเครื่องเล่นอีกหลายชนิด เช่น ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน รถแข่ง ยิงปืน ยิงธนู รถแข่ง ฯลฯ
สาวน้อยตกน้ำ การละเล่นที่อยู่คู่งานภูเขาทองมาช้านาน
มนุษย์สองหัวและมนุษย์เงือก การแสดงที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก
การละเล่นนานาชนิด
ปิดท้ายด้วยของกิน ซึ่งมีให้เลือกมากมาย
เห็นบรรยากาศของงานแล้วก็เริ่มอยากไปกันแล้วใช่ไหม หากมีเวลาลองไปเที่ยวงานวัดแบบย้อนยุคบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้นับวันจะหาชมได้ยากยิ่ง
ที่มา dvddiary
{mosloadposition user26} | {mosloadposition user27} |
{mosloadposition user28} |